วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ครู เอื้อ สุนทรสนาน
นาย เอื้อ สุนทรสนาน หรือเรียกกันว่า " ครูเอื้อ " (
21 มกราคม พ.ศ. 2453 - 1 เมษายน พ.ศ. 2524) เป็นทั้งนักร้อง นักประพันธ์เพลง อาทิ เพลงถวายพระพร เพลงวันลอยกระทง เพลงปลุกใจ
เพลงสดุดี เพลงประจำจังหวัด และเป็นหัวหน้า
วงดนตรีสุนทราภรณ์ นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้ที่ก่อตั้ง สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย
นาย เอื้อ สุนทรสนาน ได้แต่งเพลงร่วมกับ
แก้ว อัจฉริยกุล และท่านอื่นๆ ไว้มากมายจนนับไม่ถ้วน ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 2,000 เพลง มีเพลงที่เป็นที่รู้จักกัน เช่น เพลงรำวงลอยกระทง เพลงรำวงเริงสงกรานต์ เพลงนางฟ้าจำแลง เป็นต้น นอกจากนั้นยังถือได้ว่าท่านเป็นหนึ่งในผู้ที่บุกเบิกเพลงไทยสากล และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในปี พ.ศ. 2518
เมื่อวันที่
5 เมษายน พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอ ชื่อ นาย เอื้อ สุนทรสนาน ต่อองค์การยูเนสโกในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลเพื่อให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลก ซึ่งต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ทางองค์การยูเนสโกก็ได้ยกย่องครูเอื้อเป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล
ชีวิตในวัยเด็ก
นาย เอื้อ สุนทรสนาน เกิดเมื่อวันเสาร์ที่
21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดา ชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดา ชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า "ละออ " ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น " บุญเอื้อ " และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น " เอื้อ " ครูเอื้อ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่
หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) ต่อมาได้รับพระราชนามสกุล
สุนทรสนานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
นางปาน แสงอนันต์
นายเอื้อ สุนทรสนาน
นาย เอื้อเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ในปี
พ.ศ. 2460 บิดาได้พาตัวเข้ากรุงเทพมหานคร โดยให้อาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชายซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรม มหรสพ และต่อมาจึงถูกส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นที่สวนมิสกวัน เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนดนตรีทุกประเภท นาย เอื้อจึงได้ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนี้ โดยภาคเช้าเรียนวิชาสามัญ ภาคบ่ายเรียนวิชาดนตรี ทางโรงเรียนสอนทั้งดนตรีไทยและดนตรีฝรั่ง นาย เอื้อถนัดดนตรีฝรั่ง ครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต อาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์
หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 พระเจนดุริยางค์เห็นว่า เอื้อมีความสามารถพิเศษ จึงให้ครูเอื้อหัดไวโอลิน และให้หัดเป่าแซ็กโซโฟนอีกอย่างหนึ่งด้วย และให้เปลี่ยนมาเรียนวิชาดนตรีเต็มวัน ส่วนการเรียนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นไป
ชีวิตการทำงาน
2 ปีต่อมา ความสามารถของ นาย เอื้อก็ประจักษ์ชัดแด่คณาจารย์ทั้งหลาย จึงได้ให้เข้ารับราชการประจำ กองเครื่องสายฝรั่งหลวงใน
กรม มหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น " เด็กชา " เงินเดือน 5 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2467 กระทั่งมีความชำนาญมากขึ้นจึงได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ในปี พ.ศ. 2469 เงินเดือนเพิ่มเป็น 20 บาท และ 2 ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ "พันเด็กชาตรี" และ "พันเด็กชาโท" ในปีถัดไป
ต่อมาในปี
พ.ศ. 2475 ได้โอนไปรับราชการสังกัดกรมศิลปากร ในสังกัดกองมหรสพ และในปี พ.ศ. 2478 หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร นาย เอื้อซึ่งพิสูจน์ฝีมือดนตรีจนประจักษ์ชัด เงินเดือนจึงขึ้นเป็น 40 บาท และ 50 บาทใน 2 ปีต่อมา
นอกจากรับราชการในกรมศิลปากรแล้ว นาย เอื้อยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับคณะละครร้อง ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น คณะของแม่เลื่อน ไวณุนาวิน ได้แต่งเพลง " ยอดตองต้องลม " ขึ้น นับเป็นเพลงในชีวิตการประพันธ์เพลง เพลงยอดตองต้องลมนี้ นาย เอื้อ สุนทรสนาน ให้ทำนอง เฉลิม บุณยเกียรติ ให้คำร้อง นอกจากนี้ ในปีเดียวกันนั้นเอง เอื้อได้ขับร้องเพลง นาฏนารี คู่กับนางสาววาสนา ละออ และถือว่าเป็นเพลงแรกสุดที่ได้ขับร้องบันทึกเสียงด้วย
กรมโฆษณาการ
ในปี
พ.ศ. 2479 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ นายพจน์ สารสิน และนายชาญ บุนนาค ร่วมกันจัดตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยขึ้น
ชื่อว่า
บริษัทไทยฟิล์ม ประเดิมภาพยนตร์เรื่องแรกคือ " ถ่านไฟเก่า " นาย เอื้อ มีโอกาสเข้าบรรเลงดนตรีประกอบเพลงในภาพยนตร์เรื่องนี้และได้ร้องเพลง " ในฝัน " แทนเสียงร้องของพระเอกในเรื่อง ได้รับความนิยมอย่างสูง ต่อมาได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีฟิล์มด้วย
จากงานใหญ่ที่สร้างชื่อเสียง นาย เอื้อ สุนทรสนาน จึงมีความคิดตั้งวงดนตรีขึ้นในปีถัดมา เรียกชื่อวงตามจุดกำเนิดคือ " ไทยฟิล์ม " ตามชื่อบริษัทหนัง และนี่คือการเริ่มแรกของวงดนตรีครูเอื้อ แต่หลังจากตั้งวงดนตรีได้ปีเศษ กิจการบริษัทไทยฟิล์มที่สร้างภาพยนตร์มีอันต้องเลิกกิจการไป วงดนตรีไทยฟิล์มก็พลอยสลายตัวไปด้วย จากนั้นอีก 1 ปี ทางราชการได้ปรับปรุงสำนักงานโฆษณาการ เชิงสะพานเสี้ยว และยกฐานะขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ โดยมีนาวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอธิบดี นายวิลาศได้พิจารณาเห็นว่า เมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้ว ก็ควรจะมีวงดนตรีประจำอยู่ จึงได้นำความคิดไปปรึกษา
หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ซึ่งคุณหลวงตระหนักถึงฝีไม้ลายมือของ นาย เอื้อและคณะอยู่แล้ว จึงได้แนะนำนายวิลาศว่า ควรจะยกวงของเอื้อมาอยู่กรมโฆษณาการ โดยการโอนอัตรามาจากกรมศิลปากร และ นี่คือที่มาของวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ โดยมี นาย เอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร์มหาอานันทมหิดล รัชกาลที่8
ครอบครัว
นาย เอื้อ สุนทรสนาน ได้สมรสกับ อาภรณ์ กรรณสูต ธิดาพระยาสุนทรบุรี
และ คุณหญิง สอิ้ง กรรรสูต เมื่อวันที่
14 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ
นางอติพร เสนะงศ์ สมรสกับ พล.ต.ท. สันติ เสนะวงศ์
ตำแหน่งการทำงาน
นาย เอื้อ สุนทรสนาน ได้นำวงดนตรีไปแสดงที่
โรงภาพยนตร์โอเดียน เมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยทางโรงแรมรัตนโกสินทร์เป็นผู้จัด คุณสุรัฐ พุกกะเวส ซึ่งเป็นเลขานุการของโรงแรมเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่จะนำวงดนตรีของราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือกับ นาย เอื้อว่าควรจะใช้ชื่อวงดนตรีเป็นอย่างอื่น ในตอนนั้น นาย เอื้อ ตกหลุมรักอาภรณ์ จึงได้จังหวะนำนามสกุลของตนเองไปรวมกับชื่อของคนรัก ซึ่งรวมกันแล้วก็ได้ชื่อวงว่า สุนทราภรณ์
นายเอื้อรับราชการในกรมโฆษณาการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 จนต่อมาในปี พ.ศ. 2495 กรมโฆษณาการได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมประชาสัมพันธ์ โดยดำเนินตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศแต่เพียงตำแหน่งเดียวจนกระทั่งเกษียณในปี พ.ศ. 2514 และทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี จนออกจากงานอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2516 และในปีนี้ นาย เอื้อเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ถึงแม้ นาย เอื้อจะไม่ได้รับความก้าวหน้าในวงการราชการเท่าที่ควร แต่ นาย เอื้อ มีสิ่งสูงสุดที่บำรุงจิตใจอยู่ตลอดมาคือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กล่าวคือ วันที่เอื้อปลาบปลื้มที่สุดวันหนึ่งในชีวิตนักดนตรีก็คือ วันที่ได้รับพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันครบรอบ 30 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512
ปัจฉิมวัย
ตลอดระยะเวลา 42 ปีของการทำงาน นาย เอื้อไม่เคยพักผ่อนเลย ปกติเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทำงานหนัก และอดนอนเก่ง จนกระทั่งถึงปลายปี
พ.ศ. 2521 ก็เริ่มมีอาการไข้สูงเป็นระยะ ๆ แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เริ่มการรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2522 มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ ในช่วงปี พ.ศ. 2523 นาย เอื้อได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปเข้าเฝ้า
พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้ขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย เพลงที่ร้องถวายคือ เพลงพรานทะเล ตั้งแต่เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา อาการของนาย เอื้อก็ได้ทรุดลงเป็นลำดับ จนเมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 นาย เอื้อ สุนทรสนาน ก็ได้เสียชีวิตลง รวมอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน นาย เอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่างผู้ประพันธ์เพลง ประจำปี พ.ศ. 2523 - 2524 แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 4 โดยมี นางอติพร เสนะวงศ์ (สุนทรสนาน) บุตรีเป็นผู้รับแทน

วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

มารูจักเพลงพระราชนิพนธ์

เพลงพระราชนิพนธ์
เพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงที่
พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรีชาญาณในเรื่องของดนตรี กีฬา พระองค์ทรงเป็นนักประพันธ์ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้มากมาย มีความไพเราะอย่างยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช รวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 48 เพลง เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มี 5 เพลง คือ "
Echo", "Still on My Mind", "Old-Fashioned Melody", "No Moon" และ "Dream Island" นอกจากนี้ มี 2 เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นภายหลังใส่ในคำร้องที่มีผู้ประพันธ์ไว้แล้ว คือ "ความฝันอันสูงสุด" และ "เราสู้"
ผู้ที่โปรดเกล้าฯ ให้แต่งคำร้องประกอบเพลงพระราชนิพนธ์มีหลายท่าน ได้แก่
หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์, ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา, ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร, ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา, นายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์), ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.ล.ประพันธ์สนิทวงศ์ และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นต้น
ในยุคแรก หลังจากที่เพลงพระราชนิพนธ์ของ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีทำนองและคำร้องสมบูรณ์แล้ว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำไปบรรเลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการหรือวงสุนทราภรณ์ เพื่อให้แพร่หลายทั่วไป ปรากฏว่าหลายเพลงกลายเป็นเพลงยอดนิยมทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ในระยะหลังพระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย ทำให้พระองค์ทรงไม่มีเวลาที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ๆออกมา เพลงสุดท้ายที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ออกมาคือเพลง "
เมนูไข่" เป็นเพลงแนวสนุกสนาน เนื้อร้องโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษาแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2538
ต่อมาได้มีการอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเรียบเรียงเป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด 27 เพลง โดย
เปรมิกา สุจริตกุล โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2552 และได้ลงพิมพ์เนื้อร้องในหนังสือ "โสมส่องแสง" เพื่อมอบแก่สมาคมนักเรียนเก่าฝรั่งเศส, สมาคมฝรั่งเศส (Alliance Française), สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ชมรมสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Legion d”Honneur และสถานทูตฝรั่งเศส เพื่อส่งเสริมการศึกษาภาษาฝรั่งเศสโดยใช้บทเพลงเป็นสื่อเพื่อให้เข้าใจในการสอนภาษาฝรั่งเศส


เพลงพระราชนิพนธ์ที่
พระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระประพันธ์
ได้แก่เพลง

๑.
แสงเทียน (Candlelight Blues)
๒.
ยามเย็น (Love At Sundown)
๓.
สายฝน (Falling Rain)
๔.
ใกล้รุ่ง (Near Dawn)
๕.
ชะตาชีวิต (H.M. Blues)
๖.
ดวงใจกับความรัก (Never Mind the H.M. Blues)
๗.
มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March)
๘.
อาทิตย์อับแสง (Blue Day)
๙.
เทวาพาคู่ฝัน (Dream Of Love Dream of You)
๑๐.
คำหวาน (Sweet Words)
๑๑.
มหาจุฬาลงกรณ์
๑๒.
แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)
๑๓.
พรปีใหม่
๑๔.
รักคืนเรือน (Love Over Again)
๑๕.
ยามค่ำ (Twilight)
๑๖.
ยิ้มสู้ (Smiles)
๑๗.
มาร์ชธงไชยเฉลิมพล
๑๘.
เมื่อโสมส่อง (I Never Dream)
๑๙. ลมหนาว (Love in Spring)
๒๐.
ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag)
๒๑.
Oh I say ๒๒. Can't You Ever See
๒๓.
Lay Kram Goes Dixie
๒๔.
ค่ำแล้ว (Lullaby)
๒๕.
สายลม (I Think of You)
๒๖.
ไกลกังวล (When)
๒๗.
แสงเดือน (Magic Beams)
๒๘.
ฝัน (Somewhere Somehow)
๒๙.
มาร์ชราชนาวิกโยธิน
๓๐.
ภิรมย์รัก (A Love Story)
๓๑.
แผ่นดินของเรา (Alexandra)
๓๒.
พระมหามงคล
๓๓.
ยูงทอง
๓๔.
ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind)
๓๕.
เตือนใจ (Old Fashioned Melody)
๓๖.
ไร้เดือน (No Moon)
๓๗.
เกาะในฝัน (Dream Island)
๓๘.
แว่ว (ECHO)
๓๙.
เกษตรศาสตร์
๔๐.
ความฝันอังสูงสุด
๔๑.
เราสู้
๔๒.
เรา-เหล่าราบ ๒๑
๔๓.
BLUES FOR UTHIT
๔๔.
รัก
๔๕.
เมนูไข่
เพลงพระราชนิพนธ์ มีหลายเพลงมากที่นำมา มีสิบเพลง
ที่นำมาเป็นตัวอย่างให้ได้รู้จัก ได้แก่

1. เพลง แสงเทียน
2. เพลง สายฝน
3. เพลง ใกล้รุ่ง
4. เพลง ชะตาชีวิต
5. เพลง ความฝันอันสูงสุด
6. เพลง เทวาพาคู่ฝัน
7. เพลง คำหวาน
8. เพลง ในดวงใจนิรันดร์
9. เพลง อาทิตย์อับแสง
10.เพลง ดวงใจกับความรัก



1. เพลง แสงเทียน

จุดเทียนบวงสรวงปวงเทพเจ้า
สวดมนต์ค่ำเช้าถึงคราวระทมทน
โอ้ชีวิตหนอล้วนรอความตายทุกคน
หลีกไปไม่พ้นทุกข์ทนอาทรร้อนใจ
ต่างคนเกิดแล้วตายไป
ชดใช้เวรกรรมจากจร
นิจจังสังขารนั้นไม่เที่ยงเสี่ยงบุญกรรม
ทุกคนเคยทำกรรมไว้ก่อน
เชิญปวงเทวดาข้าไหว้วอน
ขอพรคุ้มไปชีวิตหน้า
ทนทรมานมามากแล้วจะกราบลา
หนีปวงโรคาที่เบียดเบียน
แสงแววชีวาเปรียบแสงเทียน
เปรียบเทียนสิ้นแสงยามแรงลมเป่า
ชีพดับอับเฉาเหมือนเงาไร้ดวงเทียน
จุดเทียนถวายหมายบนบูชาร้องเรียน
โรคภัยเบียดเบียนแสงเทียนทานลมพัดโบย
โรครุมเร่าร้อนแรงโรย
หวนโหยอาวรณ์อ่อนใจ
ทำบุญทำทานกันไว้เถิดเกิดเป็นคน
ไว้เตรียมผจญชีวิตใหม่
เคยทำบุญทำคุณปางก่อนใด
ขอบุญคุ้มไปชีวิตหน้า
ทนทรมานมามากแล้วจะกราบลา
แสงเทียนบูชาจะดับพลัน
แสงเทียนบูชาดับลับไป

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2498 ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระอนุชาธิราชได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ (ขณะดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์) นิพนธ์คำร้องภาษาไทย แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะทรงแก้ไขทำนองและคอร์ดบางตอน จึงยังไม่โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำออกมาบรรเลงในเวลานั้น ต่อมา ได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรก พ.ศ.2490 และใน พ.ศ.2496 นางสาวสดใส วานิชวัฒนา (รองศาสตราจารย์สดใด พันธุมโกมล) ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ










2. เพลง สายฝน

เมื่อลมฝนบนฟ้ามาลิ่ว
ต้นไม้พลิ้วลู่กิ่งใบ
เหมือนจะเอนรากคลอนถอนไป
แต่เหล่าไม้ยิ่งกลับงาม
พระพรหมท่านบันดาลให้ฝนหลั่ง
เพื่อประทังชีวิตมิทราม
น้ำทิพย์สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวงาม
ทั่วเขตคามชุ่มธารา
สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวทุ่ง
แดดทอรุ้งอร่ามตา
รุ้งเลื่อมลายพร่างพรายนภา
ยามเมื่อฝนมาแต่ไกล
พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ
เพื่อจะนำดับความร้อนใจ
น้ำฝนหลั่งลงมาจากฟ้าแดนไกล
พืชพรรณไม้ชื่นยืนยง



เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เพลงพระราชนิพนธ์สายฝนนี้ มีลีลานุ่มนวลอ่อนหวาน บรรเลงครั้งแรกในงานรื่นเริงของสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงเป็นเพลงยอดนิยมของพสกนิกรไทยอีกเพลงหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

3. เพลง ใกล้รุ่ง

ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ไกลไกล
ชุ่มชื่นฤทัยหวานใดจะปาน
ฟังเสียงบรรเลงกับเพลงประสาน
จากทิพย์วิมานประทานกล่อมใจ
ใกล้ยามเมื่อแสงทองส่อง
ฉันคอยมองจ้องฟ้าเรืองรำไร
ลมโบกโบยมาหนาวใจ
รอช้าเพียงไรตะวันจะมา
เพลิดเพลินฤทัยฟังไก่ประสานเสียงกัน
ดอกมะลิวัลย์อวลกลิ่นระคนมณฑา
โอ้ในยามนี้เพลินหนักหนาแสงทองนวลผ่องนภา
แสนเพลินอุราสำราญ
หมู่มวลวิหคบินผกมาแต่รังนอน
เฝ้าเชยชิดช้อนลิ้มชมบัวบาน
ยินเสียงบรรเลงดังเพลงขับขาน
สอดคล้องกังวานซาบซ่านจับใจ


เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะทรงเป็นสมเด็กพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงช่วย ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์ขึ้น และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงช่วยแก้ไข แล้วพระราชทานให้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ปัจจุบัน) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

4. เพลง ชะตาชีวิต

นกน้อยคล้อยบินตามเดียวดาย
คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยหมอง
ขาดมวลมิตรไร้คนสนิทคู่เคียงครอง
หลงใหลหมายปองคนปรานี
ขาดเรือนแหล่งพักพำนักนอน
ขาดญาติบิดรและน้องพี่
บาปกรรมคงมี
จำทนระทม
ท้องฟ้าสายัณห์ตะวันเลือน
แสงลับนับวันจะเตือนให้ใจต้องขื่นขม
หากเย็นลงฟ้าคงยิ่งมืดยิ่งตรอมตรม
ชีวิตระทมเพราะรอมา
จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง
เฝ้ามองให้เดือนชุบวิญญาณ์
สักวันบุญมา
ชะตาคงดี


เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ และเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกวาระหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ
วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๒๐ พรรณนา ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ ข้าราชการ นักเรียน และคนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองติดต่อกันหลายวัน ในวันเสาร์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตั้งวงเล่นดนตรีที่พระตำหนักวิลลาวัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีด้วย ในงานมีการขายลอตเตอรี่สำหรับช่วยคนจน นอกจากการออกลอตเตอรี่แล้ว มีการทายชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ใหม่ H.M. Blues ว่า H.M. แปลว่าอะไร ผู้ที่จะทายต้องซื้อกระดาษสำหรับเขียนคำทายใบละครึ่งรังซ์ วงดนตรีบรรเลงเพลงให้ผู้ร่วมงานเต้นรำโดยไม่หยดพัก ระหว่างเลี้ยงอาหารว่างตอนดึก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ H.M. Blues เนื้อเพลงมีใจความว่า "คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เล่นดนตรีต่างก็อิ่มหนำสำราญกัน แต่พวกเราที่กำลังเล่นดนตรีต่างก็หิวโหย และไม่มีแรงจะเล่นต่อไปอีกแล้ว" ในงานไม่มีผู้ทายชื่อถูกเลยสักคนเดียว
สำหรับคำร้องภาษาไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ประพันธ์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นคำร้องภาษาอังกฤษไม่ได้พระราชทานลงมา และเพราะต้นฉบับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ดร. ประเสริฐจึงใส่คำร้องภาษาไทยที่มีความหมายออกมาคนละแบบ

5. เพลง ความฝันอันสูงสุด

ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
ขอสู่ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ
ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง
จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด
จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง
จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา
ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร
ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา
ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา
ไม่เสียหายชีวาถ้าสิ้นไป
นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง
หมายผดุงยุติธรรม์อันสดใส
ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด
ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน
โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่
เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ
ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย

เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๓ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เล่าไว้ในหนังสือ "ภิรมย์รัตน์" ว่า เมื่อตามเสด็จฯไปอยู่ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้รับพระราชเสาวนีย์จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ
"ข้าพเจ้าค่อย ๆ คิดหาคำ กลั่นกรองให้ตรงกับความหมายเท่าที่จะสามารถ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร ทรงพระกรุณาติชม จนผลสุดท้ายออกมาเป็นกลอน ๕ บท
ความบันดาลใจในเรื่องนี้มีที่มาจากการสังเกตของข้าพเจ้า ได้รู้เห็นพระราชอัธยาศัย พระราชจริยวัตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่เสื่อมคลาย"
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทาน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี เพราะ บ้านเมืองขณะนั้นยุ่งอลเวง น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ
ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน "ความฝันอันสูงสุด" ดังที่เป็นเพลงพระราชนิพนธ์รู้จักกันแพร่หลายทุกวันนี้ นับเป็น เพลงพระราชนิพนธ์แรกที่ได้ทรงจากคำร้อง

6. เพลง เทวาพาคู่ฝัน

ช่างงามทัศน์ทิวเขตคามงดงามน่าดู
ทั้งมวลล้วนมีเป็นคู่ชิดชูเชยชมรมย์รื่น
แต่ฉันดวงใจผูกพันใฝ่ฝันทุกคืน
เฝ้าปองเคียงครองคู่ชื่นให้รื่นเริงใจ
โลกนั้นดังเมืองสวรรค์เทวัญสร้างไว้
พิศดูเป็นคู่ทุกสิ่งล้วนมีรักจริงยิ่งใหญ่
อันธรรมชาติไซร้ใช้แรงความรักความใคร่
ย้อมชีวิตให้ยืนยง
อยู่เดียวเปลี่ยวใจหทัยใฝ่ฝัน
เดชกามเทพพันผูกใจให้หลง
แม้เคยทำคุณบุญส่ง
ฟ้าคงปรานีดีอยู่
โปรดจงประทานความเอ็นดู
ให้มียอดชู้เป็นคู่ชูใจ
จวบวันทิวาเฉิดฉันตะวันสดใส
ฟ้าดลบันดาลรักให้สมดังดวงใจมุ่งมั่น
เฝ้าวอนพระทรงเสกพรไหว้วอนทุกวัน
โศกทรวงดวงใจอัดอั้นตื้นตันอุรา
จวบวันราตรีเฉิดฉันดวงจันทร์แจ่มฟ้า
พบความรักดังใจมั่นเหมือนเดือนตะวันกลางหล้า
สมพรจากฟ้าพระทรงประทานปวงข้า
ชีวิตในหล้ายืนยง


เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๙ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันจันทร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ขณะประทับ ณ เมืองดาโวส์เช่นกัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย


7. เพลง คำหวาน

ได้ยินเพลงหวานก้อง
ถ้อยทำนองร้องรำพัน
ฝากความรักไว้มั่น
ด้วยถ้อยอันอ่อนหวาน
เปรียบดังเพลงทิพย์มา
จากฟากฟ้าบันดาลเ
สียงเพลงปานเพลงวิมาน
ประทานมากล่อม
เมื่อได้ยินเพลงเพราะดังว่า
ดั่งเทวาพาจิตโน้มน้อม
หรือมาลวงลองร้องเพลงกล่อม
จะประนอมให้ยอมปลงใจ
หากคำหวานขานเอ่ย
เพื่อเฉลยน้ำใจ
รักจริงใจขอฟังไป
ฟังให้ชื่นเชย
ชื่นอารมณ์สมปอง
แว่วเพลงร้องคมคำ
พลอดความรักเพ้อพร่ำ
ด้วยถ้อยคำงามสม
ถ้อยทำนองร้องส่ง
ก่อให้หลงลิ้นลม
เพลินเพลงชมย้อมอารมณ์
นิยมกลมกล่อม
เมื่อได้ยินเพลงเพราะดังว่า
ดั่งเทวาพาจิตโน้มน้อม
หรือมาลวงลองร้องเพลงกล่อม
จะประนอมให้ยอมปลงใจ
หากคำหวานขานเอ่ย
เพื่อเฉลยน้ำใจ
รักจริงใจขอฟังไป
ฟังให้ชื่นเชย

เพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ ๑๐ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระ เจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย


8. เพลง ในดวงใจนิรันดร์

อยากลืมลืมรักลืมมิลง
กลับพะวงหลงเพ้อเงา
เปรียบปานเพลิงรักรุมสุมเศร้า
เปลี่ยวเปล่าร้าวรอน
แต่เพียงกาลเวลาอันหมุนเวียน
ฤาอาจผลัดเปลี่ยนเบียนรักคลอน
รสรักจากรสอดสวมกร
ยังถาวรติดเตือน
เมื่อยามอาทิตย์ลอยคล้อยต่ำ
ย่ำยามท้องฟ้าเลือน
ยังหวังเชยชิดกันฉันเพื่อน
ติดเตือนตรึงใจ
สุดประพันธ์บรรเลงให้ครบครัน
วันอาจจะผ่านเวียนผันไป
รักนั้นจะเนาแน่นแฟ้นใน
ดวงใจนิรันดร์




เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๗ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองเป็นเพลงแรก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย


9. เพลง อาทิตย์อับแสง

เคยชม
ร่วมภิรมย์ใจ
ด้วยความรักจริงยิ่งใหญ่
รักพันหัวใจเรามั่น
รักเอย
เคยอยู่เคียงกัน
ร่มเย็นมิเว้นวายวัน
ด้วยความสัมพันธ์ยืนยง
ทิวางาม
ยามอยู่เคียงคง
สุริยาแสงส่ง
ปวงชีวิตในโลกดำรงเริงใจ
ร้างกัน
วันห่างไปไกล
มืดมนหมองมัวปานใด
เยือกเย็นเข็ญใจรัญจวน
ไกลกัน
พาพรั่นใจครวญ
ร่างกายทรุดโทรมทุกส่วน
จิตใจร้อนรวนแรงอ่อน
รักเอย
เลยกลับอาวรณ์
ค่ำคืนฝืนใจไปนอน
ยิ่งดูเหมือนฟอนไฟลน
ทิวาทราม
ยามห่างดวงกมล
สุริยาหมองหม่น
ปวงชีวิตในโลกอับจนเสื่อมทราม
หวังคอย
คอยเฝ้าโมงยาม
จวบจนทิวาเรืองงาม
สบความรักยามคืนคง


เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๘ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันพุธที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ขณะประทับแรมบนภูเขาในเมืองดาโวส์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย


10. เพลง ดวงใจกับความรัก

ค่ำคืนนภาดาราพราว
ประกายแสงดาวพราวตา
ดาษเรียงเคียงแสงดวงจันทรา
เพลินชมแสงพรายนภาเห็นดวงดาราล้อมจันทร์
ที่จริงนั้นเดือนและดวงดาว
ต่างเรืองแสงวาวพราวพรรณ
ด้วยแรงจากแสงดวงตะวัน
จึงมีแสงเดือนงามครันแสงดาวประชันน่าชม
เปรียบดวงดาวและดวงเดือน
ก็เหมือนแม้แววมโนรมย์
เปล่งแววไปเปลี่ยนใจชม
ด้วยจินตนาอารมณ์นานาประการ
แน่นอนแท้จริงคือดวงใจ
ส่องแววรักไปยืนนาน
เปรียบดังกับแสงตะวันตระการ
ยังคงแสงงามสะคราญแสงทองยืนนานเรื่อยมา
ตะวันฉายมาดาราราย
ส่องแสงพริ้มพรายนัยน์ตา
รื่นรมย์ชมแสงดวงจันทรา
ชมดาวล้อมเดือนงามตาพริ้มพรายนภาแสงงาม
มาตรแม้นสูญดวงตะวันไป
ประดาแสงในฟ้าทราม
ผู้คนสัตว์ไม้จะตายตาม
ตะวันสูญไปเป็นยามล้วนมีแต่ความมืดมน
เปรียบดวงดาวและดวงเดือน
ก็เหมือนแม้นแววมโนรมย์
เปล่งแววไปต่างใจคน
เปลี่ยนแปลงไปตามใจตนเวียนวนจนตาย
ตะวันนั้นเหมือนดังดวงใจ
หากสิ้นแสงไปรักคลาย
ขาดความรักเหมือนชีวาวาย
จะเป็นหรือตายทั้งใจและกายไม่วายโศกโทรม

เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ในงานเฉลิมพระชนมพรรณาปีนั้น (วันเสาร์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐) หลังจากได้เสวยพระกระยาหารและนักดนตรีได้รับประทานอาหารแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และพระราชทานชื่อว่า Never Mind the H.M. Blues เป็นการตอบปริศนาคำทายที่ว่า H.M. แปลว่าอะไร


http://web.ku.ac.th/king72/2530/music.htm